SHARE
BANGKOK’S 19TH INTERNATIONAL FESTIVAL OF DANCE AND MUSIC

เตรียมตื่นตาตื่นใจกับ 13 การแสดงระดับโลก

SHARE



เตรียมตัวเตรียมใจและทำตัวให้ว่าง เพื่อรอชมการแสดงระดับโลก ที่ปีนี้ยกมาให้ชมมากถึง 13 การแสดง จาก 9 ประเทศ ประกอบด้วย รัสเซีย ฝรั่งเศส เยอรมนี สาธารณรัฐประชาชนจีน ลิทัวเนีย สเปน สหรัฐอเมริกา เดนมาร์ก และสวิตเซอร์แลนด์ รวมทั้งหมด 21 รอบการแสดง โดยเริ่มเปิดการแสดงในวันแรก 11 ก.ย. จนถึง 19 ต.ค. 2560 นี้

โดยทุกการแสดงทุกโชว์ล้วนยิ่งใหญ่เกินบรรยาย พูดได้ว่ายกโปรดักชั่นสุดอลังการข้ามน้ำข้ามทะเลมาให้ชมกันถึงบ้านเรา ไม่ต้องบินไปชมไกลถึงต่างแดน ใครหมายตาโชว์ไหนไว้ อ่านจบรีบจองด่วน เพราะหากมัวลังเล บัตรอาจหมดก่อนก็เป็นได้

ส่วนการแสดงชุดไหนน่าดูชมเช่นไร และเปิดแสดงวันไหนบ้าง AWAY ได้รวบรวมมาให้แล้วดังนี้

 



จันทร์ที่ 11 กันยายน  (19.30 น.)

เริ่มต้นการแสดงแรกของปีนี้ด้วยบัลเลต์จากรัสเซีย เรื่อง “แคทยาและเจ้าฟ้าแห่งสยาม - Katya & The Prince of Siam”ซึ่งเป็นโปรดักชั่นใหม่ล่าสุด ที่จะเปิดการแสดงครั้งแรกเป็นรอบปฐมทัศน์ของโลกในครั้งนี้โดยคณะ “เยกาเตรินเบิร์ก โอเปรา แอนด์บัลเลต์เธียเตอร์” หนึ่งในคณะโอเปราและบัลเลต์ที่เก่าแก่ที่สุดของรัสเซีย ซึ่งล่าสุดคว้ารางวัล Golden Maskสาขาการแสดงบัลเลต์ยอดเยี่ยม ที่กรุงมอสโกเมื่อเดือนเมษายน เมื่อต้นปีที่ผ่านมานี้เอง

“แคทยา และเจ้าฟ้าสยาม” บัลเลต์โรแมนติก จากบทประพันธ์เรื่อง “แคทยาและเจ้าฟ้าสยาม” ซึ่งประพันธ์โดย ไอลีน ฮันเตอร์ และหม่อมราชวงศ์นริศรา จักรพงษ์ โดยบัลเลต์เรื่องนี้เป็นเรื่องราวความรักของหญิงสาวชาวรัสเซียผู้หนึ่งที่ชื่อ เอกาเทรินา อิวาโนวา เดสนิตสกี้ หรือแคทยา ที่มีต่อราชนิกูลหนุ่มชาวสยาม เรื่องราวอันโรแรมติกที่เกิดขึ้น ณ เมืองเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก และประเทศสยามในอดีตเรื่องนี้ จะพาผู้ชมทุกคนร่วมเดินทางไปตามเส้นทางอันงดงาม เพื่อเข้าสู่โลกส่วนตัวของสองวัฒนธรรมที่ต่างกันโดยสิ้นเชิง ที่นำพาสู่เรื่องราวความรักที่แสนเศร้าที่สุดเรื่องหนึ่งแห่งยุค

บัลเลต์เรื่องนี้จะนำเสนอชีวิตรักของคนทั้งคู่โดยมิใช่การบอกเล่าชีวประวัติ ภายใต้การแสดงอันตระการตา ผ่านผลงานการประพันธ์ดนตรีของปาเวล ออฟซานนิคอฟ และการออกแบบท่าเต้นของอัน พร้อมฉากอันอลังการที่ออกแบบอย่างประณีตบรรจง





พุธที่ 13 กันยายน  (19.30 น.)

จากนิทานยอดนิยมในใจใครหลายคนในวัยเด็กอันแสนสุข ที่เด็กสาวหลายๆ คน คงแอบฝันว่าถ้ามีโอกาสได้พบเจ้าชายอย่างซินเดอรเรลล่าบ้างก็น่าจะดี และสำหรับบัลเลต์ “ซินเดอเรลล่า” ซึ่งคีตกวีเอกของโลกชาวรัสเซีย Sergei Prokofiev ได้ประพันธ์ดนตรีประกอบอันสร้างแรงบันดาลใจทำให้โลกของความฝันเสมือนกลายเป็นจริง ความมหัศจรรย์และความหวังในหนังสือนิทานก่อนนอนกลายมาเป็นการแสดงที่โลดแล่นอยู่บนเวที

โปรดักชั่นการแสดง ฉาก เวที เครื่องแต่งกายอันอลังการ ออกแบบโดย Vyacheslav Okunev จาก St.Pertersburg ผู้ได้รับรางวัลทรงเกียรติเป็นศิลปินแห่งชาติของรัสเซีย และออกแบบท่าเต้นโดย Vladimir Vasiliev อดีตนักเต้นหลักของบอลชอยเธียเตอร์ นับว่าเป็นชุดการแสดงที่สนุกและสร้างความประทับใจมาแล้วอย่างมากมายในระดับโลก
 



ศุกร์ที่ 15 กันยายน (19.30 น.)

อีกหนึ่งการแสดงที่ถูกจับตามองและเป็นที่เฝ้ารอของใครหลายๆ คน กับ “สปาตาคัส” หนึ่งในรายการแสดงบัลเลต์ที่มีคนรู้จักมากที่สุดและทำการแสดงบ่อยที่สุด กับการแสดงนำเสนอการบุกเข้าโจมตีของทาสซึ่งนำโดย สปาตาคัส ต่อจักรวรรดิโรมันซึ่งรู้จักกันในสงคราม Third Seville War  Aram Khachaturian ประพันธ์ดนตรีประกอบในปี 1954 และได้รับรางวัล Lenin Prize ถือเป็นจุดเด่นและได้รับการกล่าวขานถึงว่าเป็นการแสดงที่มีดนตรีประกอบไพเราะและเร้าใจ โดยอารัม คาชาทูเรียน (Aram Khachaturian)

โดยบัลเลต์เรื่องนี้ได้รับการนำแสดงขึ้นเวทีครั้งแรก โดยคณะบัลเลต์ Bolshoi แห่งมอสโกในปี 1958 และหลังจากนั้นที่ได้มีการเปลี่ยนแปลงการออกแบบท่าเต้นใหม่โดย Yuri Grigorovich ในปี 1968 ซึ่งได้รับการยกย่องว่าเป็นความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ในวงการบัลเลต์ Yuri Grigorovich ซึ่งเป็นอดีตผู้ออกแบบท่าเต้นให้กับคณะบัลเลต์แห่ง Bolshoi เป็นผู้มีอิทธิพลต่อวงการบัลเลต์ของรัสเซียมากว่า 30 ปี ในช่วงระยะเวลารุ่งเรืองที่สุด เขาเคยได้รับรางวัลอันทรงเกียรติมากกว่า 50 รางวัล ซึ่งรวมถึง ศิลปินแห่งชาติของรัสเซีย (Honoured Artist of Russia and People’s Artist of Russia)ด้วย

คณะ Bashkir State Opera and Ballet Theatre เริ่มเป็นที่รู้จักครั้งแรกในวันที่ 14 ธันวาคม 1938 ในช่วงสงครามโรงละคร Kiev Academic Opera and Ballet Theatre ถูกอพยพย้ายไปยังอูฟา เป็นจุดเริ่มการมีส่วนร่วมสร้างสรรค์ผลงานของ Bashkirและศิลปินชาวยูเครนที่มีประสบการณ์ช่วยสร้างวัฒนธรรมการแสดงและรสนิยมทางศิลปะของศิลปะการแสดง ศิลปินทุกท่านของคณะต่างได้รับรางวัลทั้งระดับชาติและนานาชาติ
 



อาทิตย์ที่ 17 กันยายน (14.30 น.)

อีกหนึ่งผลงานชิ้นเอกของ ยูริ กริโกโรวิช (Yuri Grigorovich) ผู้เป็นตำนานในการออกแบบท่าเต้นและกำกับเวทีแห่ง “บัชกีร์สเตตโอเปรา แอนด์บัลเลต์เธียเตอร์” การแสดงชุดนี้เป็นเรื่องราวการผจญภัยของคอนราด หัวหน้าโจรสลัด และเมโดรา สาวคนรักชาวกรีก กับโศกนาฏกรรมรักที่ต้องหลบซ่อนและต่อสู้จนวาระสุดท้าย

บัลเลต์ Le Corsaire นับได้ว่าคือหนึ่งในบัลเลต์คลาสสิค ที่มีความเก่าแก่ที่หลายคณะนำมาแสดงมากกว่า 150 ปี เปิดการแสดงครั้งแรกบนเวทีโรงละคร Paris Grand Opera ในปี 1856 สำหรับบัลเลต์ “Le Corsaire” นี้ ยังคงรักษาฉากการเต้นที่น่าตื่นเต้นที่สุด และโดยเฉพาะช่วงที่ผู้ชมมากมายต่างคุ้นเคย เช่น ชุด “Lively Garden” รวมถึงการเต้นรำคู่ของตัวเอกและองค์ประกอบการออกแบบท่าเต้นอื่น ๆ การออกแบบท่าเต้นโดย Yuri Grigorovich ของการแสดงบัลเลต์เรื่องนี้ ยังคงรักษาพื้นฐานดั้งเดิมของ Petipa ซึ่งออกแบบเอาไว้ก่อนหน้า ซึ่ง Yuri Grigorovich คืออดีตนักออกแบบท่าเต้นของคณะ Bolshoi Ballet ที่สร้างอิทธิพลต่อวงการบัลเลต์รัสเซียมากว่า 30 ปี ในช่วงรุ่งเรืองของอาชีพ Yuri ได้รับรางวัลอันทรงเกียรติมาแล้วกว่า 50 รางวัลอันรวมถึงศิลปินแห่งชาติ Honoured Artist of Russia และ People’s Artist of Russia





อังคารที่ 19 กันยายน (19.30 น.)
พุธที่ 20 กันยายน (19.30 น.)


หลังจากตระเวนท่องเที่ยวทำการแสดงรอบโลกในฐานะกลุ่มนักยิมนาสติก ” National Danish Gym Team” วิศวกร Uwe Godbersen ก็ได้ก่อตั้งคณะ Flying Superkids ขึ้นในปี 1967 ซึ่งเริ่มจากทีมนักยิมนาสติกหญิงแค่ 20 คน จนปัจจุบันกลายเป็นคลับซึ่งมีสมาชิกถึง 400 คน Uwe Godbersen มีทิศทางของเขาเองในการสอนและการออกแบบท่าให้กับนักยิมนาสติก ภาพรวมของแนวคิดคือยิมนาสติกไม่ควรจะถูกนำเสนอในลักษณะดั้งเดิมซ้ำไปซ้ำมาแต่ควรจะผสมผสานกับไอเดียที่น่าสนใจ การแต่งกาย ดนตรีประกอบและการจัดแสงที่เร้าใจ จากไอเดียดังกล่าว เพียงแค่ไม่กี่ปีเด็กๆในทีมเริ่มออกแสดงไปทั่วประเทศเดนมาร์ค และมาถึงจุดที่เด็กๆแสดงถ่ายทอดสดทางโทรทัศน์ของประเทศเยอรมนีอันเป็นการเริ่มต้นเปิดตัวสู่ระดับนานาชาติ

สังคมให้ความสนใจต่อทีม Flying Superkid อย่างต่อเนื่อง เทียบเชิญถูกส่งมาจากเกือบทุกประเทศในทวีปยุโรป และในปี 1982 พวกเขาได้เดินทางออกตระเวนแสดงจากฝั่งตะวันตกสู่ตะวันออกของสหรัฐอเมริกา สถานที่ฝึกซ้อมถูกปรับปรุงเพื่อรองรับการออกแบบการแสดงใหม่ๆที่ท้าทายและยากยิ่งขึ้น ปัจจุบัน Uwe ถอนตัวออกจากการเป็นผู้ฝึกสอน The Flying Superkids และมอบไม้ต่อให้กับลูกหลานคือ Lone, Lars และ Svend Godbersen  อย่างไรก็ตามถ้ามีใครได้บอก Uwe Godbersen ย้อมไปในปี 1967 ว่า The Flying Superkids ควรจะออกแสดงให้กับคนทั่วโลกจำนวนเป็นล้านๆคน ตัวเขาเองคงคิดว่าเป็นเรื่องน่าเหลวไหล แต่มันได้เกิดขึ้นแล้วมาจนถึงปัจจุบัน
 




ศุกร์ที่ 22 กันยายน (19.30 น.)

ผลงานใหม่เพิ่งเปิดตัวในปีนี้ ณ เทศกาลฟลาเมงโก Malaga Biennial Flamenco Festival ของสเปน และที่กับการแสดงครั้งนี้ในกรุงเทพฯ จะเป็นรอบปฐมทัศน์โลกของการแสดงชุดนี้

Torera นำเสนอเรื่องราวความขัดแย้งของสองขั้วในธรรมชาติมนุษย์ อูร์สุลา โมเรโน (Ursula Moreno) ผู้เคลื่อนไหวร่วมกับ กระทิง มรดกของแอนดาลูเซีย ได้อย่างสมบูรณ์แบบเป็นเอกภาพ นับได้ว่าเป็นการแสดงที่ท้าทายความสามารถของนักแสดงมากกว่าทุกชุดที่ผ่านมา
โดยคณะนักเต้นฟลาเมนโก้ Antonio Andrade ได้ถูกก่อตั้งขึ้นในปี 2001 ในลักษณะของคณะบัลเลต์ฟลาเมนโกขนาดใหญ่ ตามมาด้วยคณะ Alhama Flamenco ที่ก่อตั้งในปี 1993 ในปีนี้ 2017 คณะได้นำเสนอการแสดงใหม่ล่าสุดซึ่งเป็นการแสดงที่ทะเยอทะยานมากที่สุดในประวัติศาสตร์ของคณะ นั่นคือ ”TORERA” อันเป็นส่วนหนึ่งของเทศกาลฟลาเมนโก Malaga Biennial Flamenco Festival ของสเปน เพราะฉะนั้นการแสดงในมหกรรมศิลปะการแสดงและดนตรีนานาชาติ กรุงเทพฯ ครั้งที่ 19 นี้ ถือว่าเป็นรอบปฐมทัศน์โลกของรายการนี้




ศุกร์ที่ 22 กันยายน (19.30 น.)

เรื่องราวของหญิงสาวผู้ยอมตายดีกว่าที่จะมีชีวิตอยู่อย่างขาดอิสรภาพ หรือถูกตราหน้าว่าเป็นคนโกหกในสไตล์ศิลปะการเต้นฟลาเมงโก โดยอันโตเนียวอันดราเด ได้ปรับธีมอันคลาสสิกของ Carmen ให้เป็นการแสดงด้วยจิตวิญญาณใหม่ของฟลาเมงโก

ซึ่งเป็นที่น่าประหลาดใจเมื่อชายฝรั่งเศสสองคนเป็นผู้สร้างงานการแสดงระดับตำนานของสเปนให้กับโลก คนแรกคือ Prosper Merimée กับนวนิยายโศกนาฏยกรรม อีกคนคือ George Bizet คีตกวีผู้สร้างงานอุปรากรอันโด่งดัง ทั้งคู่ทำให้ชื่อของ Carmen โลดแล่นอยู่ในวงการอุปกรากรมาจนถึงปัจจุบัน สำหรับ Antonio Andrade และคณะนักเต้นฟลาเมนโกได้ประยุกต์แก่นเรื่อง Carmen ของ Bizet อันได้รับแรงบันดาลใจจากเมือง Seville บ้านเกิดของนาฏศิลป์ฟลาเมนโก โดยใส่จิตวิญญาณของฟลาเมนโกเข้าไปในแก่นของเรื่อง รวมถึงรูปแบบของการเต้นที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็น แจ๊สห รือซัลซา ก็ถูกประยุกต์เช้าไปในการแสดงด้วยเช่นกัน

และสำหรับ Carmen ในเวอร์ชั่นฟลาเมนโกนี้ Antonio Andrade ได้เนรเทศลักษณะของอุปกรากรของไปหมด แล้วใส่รากเหง้าของฟลาเมนโกเข้าไปในด้านของดนตรีและนาฏยกรรม นำเสนออย่างตรงไปตรงมา ปราศจากซึ่งความหรูหรา หลังจากที่ทำการเปิดตัวการแสดงนี้ในปี 1998 ณ Deutsche Opera Berlin (เยอรมนี) Antonio Andrade ได้นำมาเปิดตัวใหม่อีกครั้งในปี 2013





อาทิตย์ที่ 24 กันยายน (14.30 น.)

วงดุริยางค์ฟิลฮาร์โมนิคแห่งนครเซี่ยงไฮ้ (SPO) คือวงซิมโฟนีออร์เคสตร้าระดับมืออาชีพที่พัฒนาวงมาจาก Shanghai Broadcasting Symphony Orchestra ซึ่งคงปฏิเสธไม่ได้ว่า SPO คือวงออร์เคสตร้าที่ชาวเอเชียภูมิใจ ที่สามารถพัฒนาทักษะ และองค์ประกอบทางศิลป์จนกระทั่งก้าวขึ้นมาสู่ทำเนียบในฐานะหนึ่งในวงออร์เคสตร้าระดับโลกได้ ซึ่งได้พิสูจน์จากการร่วมงาน กับนักดนตรีคลาสสิคระดับโลกมากมายอาทิเช่น Isaac Stern, Itzhak Perlman, Vladimir Ashkenazy, Peter-Lukas Graf, Luciano Pavarotti, Plácido Domingo, José Carreras, Jessye Norman, Yo-yo Ma, Támás Vásáry, Boris Berman เป็นต้น

วงดุริยางค์ฟิลฮาร์โมนิคแห่งนครเซี่ยงไฮ้ สั่งสมประสบการณ์มากมายซึ่งทำให้แนวการนำเสนอและรูปแบบของดนตรีตอบสนองต่อผู้ชมทั้งในประเทศจีนและต่างประเทศได้อย่างครบถ้วนหลากหลายแปรผันไปตามวัฒนธรรมและความเป็นอยู่ ไม่ว่าจะเป็นโปรแกรมการแสดงดนตรีคลาสสิคดั้งเดิมหรือการแสดงบทเพลงซิมโฟนิคจากอุปรากรจีน หรือคีตกรรมที่ประพันธ์ขึ้นจากดนตรีจีนดั้งเดิม

สำหรับการแสดงในกรุงเทพฯครั้งนี้ นักเดี่ยวไวโอลินชาวจีนอันเลื่องชื่อของโลก Lu Siqing จะได้ร่วมบรรเลงบทเพลงไวโอลินคอนแชร์โต้ The Butterfly Lovers กับวง SPO ด้วย Lu Siqing คือนักไวโอลินเอเชียคนแรกที่ชนะการแข่งขันไวโอลินที่ขึ้นชื่อว่ายากที่สุดของโลกที่อิตาลีในปี 1987 นั่นคือการแข่งขัน Paganini International Violin Competition หลังจากนั้นเขาได้ทำการแสดงในมากกว่า 40 ประเทศในทวีปอเมริกา ยุโรป เอเชีย และอาฟริกาใต้ ซึ่งหลายการแสดงนั้น  Lu Siqing แสดงในโรงคอนเสิร์ตที่มีชื่อเสียงของโลกเช่น Musikverein  (เวียนนา),  Avery Fisher Hall, Alice Tully Hall (นิวยอร์ค),Hollywood Bowl (ลอสแองเจิลลีส), Southam Hall at National Arts Centre (ออตตาวา), MaisonSymphonique,Place des Arts, (มอลเทรียล), Royal Opera House, Wigmore Hall (ลอนดอน)

โปรแกรมการแสดง

  • Overture to Candide—Leonard Bernstein
  • The Butterfly Lovers Violin Concerto – He Zhanhao, Chen Gang
  • Symphony No. 9 in E minor (‘From the New World’) – Antonin Dvorak
     



พฤหัสบดีที่ 28 กันยายน (19.30 น.)
ศุกร์ที่ 29 กันยายน (19.30 น.)


การแสดงจากปีเตอร์มาร์วีย์ (Peter Marvey) นักมายากลชื่อดัง กับความสามารถที่เทียบเท่านักมายากลระดับตำนานอย่างเดวิด คอปเปอร์ฟิลด์ และซิกฟรีดแอนด์ รอย พร้อมนำทุกคนไปสัมผัสความตื่นเต้น ประหลาดใจ กับการสร้างภาพลวงตาขนาดใหญ่ที่คิดค้นเองและไม่เคยเปิดแสดงซ้ำ

และด้วยความสามารถอันเอกอุในการสร้างสรรค์มายากลโปรดักชั่นขนาดใหญ่ที่ Mavey คิดสร้างสรรค์เองทำให้เขากลายเป็นนักมายากลที่มีชื่อเสียงมากที่สุดในโลกในทันที

Peter Mavey ได้รับรางวัลชนะเลิศ Merlin Award ถึงสองครั้งจาก International Magicians Society รวมถึงรางวัล Golden Magic Wand ซึ่งมอบให้กับเขาโดยเจ้าชาย Albert แห่งโมนาโคในฐานะมายากลยอดเยี่ยมในปี 1996 Grand Prix of Monaco เมื่อเขามีอายุได้เพียง 24 ปี

Peter Mavey ตระเวนแสดงมายากลมากว่า 30 ประเทศใน 5 ทวีป ซึ่งรวมถึง Caesar’s Palace ในลาสเวกัส และ Saitama Super Arena ในโตเกียวและโรงละคร Princess Grace แห่งมอนติคาโล

 



จันทร์ที่ 2 ตุลาคม (19.30 น.)

จุใจและตระการตากว่าครั้งไหนๆ กับ Beauty and The Beast บัลเลต์ร่วมสมัย ฝรั่งเศส โดยคณะ Malandain Ballet Biarritz ซึ่งก่อตั้งขึ้นในปี 1998 ภายใต้การกำกับดูแลของ เธียร์รี มาลองแดน เป็นคณะบัลเลต์ที่มีชื่อเสียงทั้งในระดับชาติและนานาชาติ ทั้งยังได้รับการยกย่องให้เป็นหนึ่งในคณะนักเต้นที่สำคัญของฝรั่งเศส ซึ่งได้สร้างชื่อเสียงและวางหมุดหมายที่มั่นคงให้ตัวเองไปทั่วโลก ได้รับการยกย่องให้เป็นหนึ่งในคณะเต้นที่สำคัญที่สุดในวงการของฝรั่งเศสอันเสมือนฑูตทางวัฒนธรรมที่เผยแพร่ชื่อเสียงด้านนาฏศิลป์ร่วมสมัยไปแล้วทั่วโลก

โดยไม่ต้องทบทวนการตีความเรื่องราวทั้งหมด การนำเสนอประสานความสัมพันธ์ในความแตกต่างของบุคลิกตรงข้ามได้อย่างดียิ่ง ขณะที่ Belle คือการรวมซึ่งการนำเสนอจิตวิญญาณของความเป็นมนุษย์ ส่วน Beast คือพลังของชีวิตที่ดำเนินด้วยสัญชาตญาณดิบ ไม่ว่าจะเป็นการประสานสัมพันธ์ในความต่างของบุคลิกที่ขัดแย้ง แต่งเติมด้วยดนตรีประกอบของ Tchaikovsky ทำให้ Beauty and the Beast ของ Malandain Ballet Biarritz แสดงออกถึงความหลุดพ้นจากสัญชาตญาณของปิศาจซึ่งเป็นผลจากความเหนือกว่าในจิตวิญญาณของมนุษย์ได้อย่างชัดเจนที่สุด

“เธียร์รี มาลองแดน นักออกแบบท่าเต้นของคณะบัลเลต์ เบียร์ริตซ์ เป็นศิลปินที่แปลก เขาคือผู้รู้ผู้สร้างที่รู้เรื่องราวของดนตรีและประวัติศาสตร์บัลเลต์ด้วยใจ เขาสร้างสรรค์การเต้นที่ไร้คำพูด เขาเป็นเหมือนสปริงที่โดดเด้งออกมาจากจุดที่การเคลื่อนไหวได้เริ่มต้นขึ้น” Philippe Noisette, Les Echos

 



พฤหัสบดีที่ 5 ตุลาคม, ศุกร์ที่ 6 ตุลาคม (19.30 น.)
เสาร์ที่ 7 ตุลาคม, อาทิตย์ที่ 8 ตุลาคม (14.30 น. และ 19.30 น.)


ภาพการดีดนิ้วของแก๊งกลางถนน ภาพของกระโปรงที่ถูกพัดปลิวชองสาวเปอร์โตริโกบนหลังคาอพาร์ตเมนต์ในย่านตะวันตกของมหานครนิวยอร์ค ผสมผสานเข้ากับสกอร์เพลงอันโด่งดังของ Leonard Bernstein ในบทเพลงเช่น “Maria“, “Tonight“, “Somewhere“, “America“ และ “I Feel Pretty” ทั้งหมดนี้ จะปลุกความทรงจำของผู้ชมที่มีต่อ  West Side Story  ในปี 1957

ซึ่งบรอดเวย์ได้เปิดตัวการแสดง Musical กับบริบทใหม่ของทั้งดนตรีและในแง่ของการเต้นรำจากสุดยอดของสี่อัจฉริยะแห่งวงการ คือ Leonard Bernstein, Jerome Robbins, Arthur Laurents และ Stephen Sondheim ซึ่งทั้งสี่ได้สร้างสรรค์  West Side Story ออกมาได้อย่างยอดเยี่ยมปราศจากข้อกังขาใดๆ จากผู้ชม จนกระทั่งปัจจุบัน แค่เวอร์ชั่นภาพยนตร์กวาด 10 รางวัลออสการ์และกลายมาเป็นละครเพลงออกสู่สายตาของผู้ชนจำนวนล้านๆ คนหลังจากนั้นเพียงไม่กี่ปี ปัจจุบัน West Side Story ยังคงยืนหยัดเป็นละครเพลงอเมริกันอันดับหนึ่งตลอดกาล

การนำเสนอของ Joey McKneely ซึ่งเป็นนักออกแบบเวทีเจ้าของรางวัล ทำให้ West Side Story ในเวอร์ชั่นนี้ เป็นเวอร์ชั่นเดียวของโลกที่ได้รับการอนุญาตนำเสนอการออกแบบท่าเต้นคลาสสิคดั้งเดิมของ Jerome Robbins ซึ่งโปรดักชั่นดั้งเดิมนี้ ได้กลับมาทำการแสดงทั่วโลกอีกครั้ง หลังจากจบการแสดงที่ได้รับการยกย่องไปทั่วยุโรป และยังทำการตระเวนแสดงทั่วโลกอย่างต่อเนื่องไปอีก 15 เดือน จนถึงเดือนมกราคม 2018  

West Side Story เวอร์ชั่นนี้จะเปิดการแสดงในเมืองใหญ่ต่างๆ เช่น โอ๊กแลนด์ บราทิสลาวา เดอเฮก ดูไบ ดับบลิน ฮ่องกง อิสตันบูล มะนิลา ปารีส ปราก สิงคโปร์ เวียนนา โตเกียว และ กรุงเทพมหานคร ซึ่งการแสดงในมหกรรมศิลปะการแสดงและดนตรีนานาชาติ ครั้งที่ 19 ในปีนี้คือการยกโปรดักชั่นดั้งเดิมเต็มรูปแบบมาทั้งหมด นับได้ว่าเป็นอีกหนึ่งการแสดงของปีนี้ที่หลายๆ คน เฝ้ารอและไม่ยอมพลาดอย่างแน่นอน
 




เสาร์ที่ 14 ตุลาคม (19.30 น.)

วงซิมโฟนนีแห่งชาติของลิธัวเนีย (LNSO) ก่อตั้งขึ้นในปี 1940 โดยวาทยกรและนักประพันธ์ดนตรี Balys Dvarionas ในปี 2015 Modestas Pitrėnas เข้ามารับหน้าที่เป็นผู้อำนวยการฝ่ายศิลป์และวาทยกรหลัก และ Robertas Šervenikas เข้ามาเป็นผู้ช่วยวาทยกร

LNSO แสดงคอนเสิร์ตโดยเฉลี่ย 50 การแสดงต่อปีทั้งในลิธัวเนียและประเทศต่างๆทั่วโลก เช่น เกือบทุกประเทศในทวีปยุโรป ญี่ปุ่น แอฟริกาใต้ เกาหลีใต้ รวมถึงสถานแสดงดนตรีที่มีชื่อเสียงอาทิ Musikverein ใน กรุง Vienna, ฟิลฮาร์โมนิคฮอลล์ในกรุง Cologne และ Berlin, Barbican Centre ในมหานคร London, Alte Oper ใน เมือง Frankfurt, Metropolitan และ Suntory Hall ในกรุง Tokyo และ Royal Concertgebouw ในกรุง Amsterdam เป็นต้น ที่ผ่านมา LNSO ผ่านการควบคุมวงจากวาทยกรระดับโลกมาแล้วมากมายอาทิ เช่น Kurt Masur, Cyril Diederich, Neeme Järvi, Mstislav Rostropovich, Krzysztof Penderecki และ Christoph Eschenbach รวมถึงนักดนตรีเอกของโลกที่ร่วมทำการแสดงกับวง เช่น Montserrat Caballé, Jessye Norman, Sergejus Larinas, Violeta Urmana, Emil Gilels, Daniel Pollack, Sergio Tiempo, Freddy Kempf, Mūza Rubackytė, Gidon Kremer, Leonid Kogan, Julian Rachlin, Sergej Krylov, Philippe Graffin, Mischa Maisky, Ivan Monighetti, David Geringas, Danjulo Ishizaka, Yuri Bashmet เป็นต้น

ตั้งแต่ปี 1991 วง LNSO ได้เข้าร่วมในเทศกาล GAIDA Contemporary Music Festival ซึ่งทางวงได้บันทึกเสียงทั้งในลิธัวเนียและในต่างประเทศ ในสังกัดค่ายดนตรีคลาสสิคชื่อดังของโลกเช่น Melodiya, Marco Polo, Col legno, Ella Records, Naxos และ Avie Records

โปรแกรมการแสดง

  • Hungarian Rhapsody No 2 in C sharp minor – FRANZ LISZT
  • Peer Gynt suite (compiled from two suites) – EDVARD GRIEG
  • Symphony No 4 in E minor, Op. 98 – JOHANNES BRAHMS

     



พุธที่ 18 ตุลาคม, พฤหัสบดีที่ 19 ตุลาคม (19.30 น.)

ชตุทร์การ์ดบัลเลต ถือว่าเป็นหนึ่งในคณะบัลเลต์ที่โด่งดังมากที่สุดคณะหนึ่งของโลก โลดแล่นอย่างสง่างามในวงการบัลเลต์นานาชาติมากกว่า 50 ปี การแสดงในกรุงเทพฯครั้งนี้จะได้นำเสนอผลงานการออกแบบท่าเต้นของ John Cranko ในเรื่อง “The Taming of The Shrew” อันเป็นสุขนาฏยกรรมบัลเลต์ ที่มีชื่อเสียงมากที่สุดในศตวรรษที่ 20 ได้รับแรงบันดาลใจจากบทละครในชื่อเดียวกันของ William Shakespeare ซึ่ง Cranko นำเสนอมุมมองขบขันต่อความถือดีของเพศบุรุษและเสรีภาพของสตรีในศตวรรษที่ 16 เพทรูชิโอ คือหนุ่มฐานะยากจนจากเวโรน่าที่เดินทางมาปาโดวา เพื่อหาภรรยาที่มีฐานะ ซึ่งทำให้เขาได้พบกับแคทธารีน่า หญิงสาวหัวแข็งและยอดพยศที่ต้องหนีการไล่ล่าพิชิตรักของเพทรูชิโอให้ได้หัวใจ ก่อนที่ความคิดที่จะปฏิเสธการแต่งงานของเธอจะไม่เป็นผล ซึ่งช่วงฮันนีมูนของทั้งคู่เป็นที่มาของเรื่องราวพ่อแง่แม่งอนที่สุดหรรษา โดยเฉพาะแคทธารีน่า สาวรักอิสระจะไม่ยอมให้เพทรูชิโอปราบพยศเธอได้เป็นอันขาด แต่เมื่อคู่กัดคู่นี้เดินทางกลับมายังปาโดวาอีกครั้งหนึ่ง หัวใจที่แสนเฮี้ยวของแคทธารีน่าก็ไม่มีวันเหมือนเดิมอีกต่อไป

John Cranko เชี่ยวชาญในการสร้างตัวละครที่มีแรงจูงใจภายในที่สร้างความน่าเชื่อถือและเข้าใจได้ง่ายสำหรับผู้ชม ทำให้นักเต้นที่มีสองบทบาทแสดงออกน่าทึ่งจากความสามารถในการแสดงและการเต้นซึ่งผสมกลมกลืนกันอย่างสง่างาม โดยเฉพาะตัวละครหลักทั้งสองอันจะทำให้ผู้ชมหลงรักอย่างไม่รู้ตัวจนกระทั่งปิดม่านการแสดง ผนวกกับดนตรีประกอบของ Domenico Scarlatti เครื่องแต่งกายและฉากอันตระการตาโดย Elisabeth Dalton ซึ่งจะทำให้ผู้ชมหลงเข้าไปในถนนและสวยที่งดงามในอิตาลี นี่คือความสมบูรณ์แบบของการแสดงบัลเลต์สำหรับครอบครัวอันแท้จริง

อ้างอิงและรายละเอียดเพิ่มเติม www.bangkokfestivals.com
และจองบัตรได้ที่ www.thaiticketmajor.com/performance/icp19-2017-th.html




ข้อควรปฏิบัติในการเข้าชมการแสดง

• กรุณาไปก่อนเวลา หากการแสดงเริ่มแล้ว จะไม่สามารถเข้าชมการแสดงได้ 
• มีบริการรถ Shuttle Bus รับ - ส่งฟรี จากสถานีรถไฟฟ้าใต้ดิน MRT ประตูทางออก 1 - ศูนย์วัฒนธรรม ตั้งแต่เวลา 17:30 - 19:00 น.
• ห้ามเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี เข้าชมการแสดง


 

RELATED