SHARE
LIFE IS REAL

นิทรรศการภาพถ่ายเพื่อชุมชน โดย ชำนิ ทิพย์มณี

SHARE


"ผมออกท่องเที่ยวไปเพื่อบันทึกสิ่งต่างๆ รอบตัว ในฐานะช่างภาพ กล้องเป็นเสมือนดวงตาที่สามของผม ที่ถ่ายทอดเหตุการณ์ออกมาด้วยความซื่อตรง ผมพยายามจับภาพที่มีมิติมากกว่าสิ่งที่ตามองเห็น ทำให้คนมองมีความรู้สึกร่วมไปกับเรื่องราวในรูปนั้น เพราะในที่สุดแล้ว ผมเชื่อว่าการเดินทางของช่างภาพนั้นเป็นเรื่องของจิตวิญญาณมากกว่าสิ่งใดๆ ทั้งสิ้น" ประโยคข้างต้นคือถ้อยคำที่เคยปรากฎในสูจิบัตรของงานแสดงภาพถ่ายชุด  "The Travelling Soul: ตามหาจิตวิญญาณล้านนา" ที่เคยจัดขึ้นที่เชียงใหม่ เมื่อปี พ.ศ. 2555 
 



และในวันนี้... โดยส่วนตัวของผู้เขียน สัมผัสได้ว่า ชำนิ ทิพย์มณี หรือที่ใครหลายๆ คน ต่างเรียกขานว่า “น้าชำ” คำเรียกที่ก่อเกิดจากความเคารพ รัก และให้ความนับถือ ราวกับญาติผู้ใหญ่ ซึ่งไม่ว่าวันเวลาจะผ่านไปกี่ปีต่อกี่ปี “น้าชำ” ก็ยังคงยึดมั่นในแนวคิดเดิม ในเรื่องของการถ่ายทอดจิตวิญญาณแห่งชีวิตที่มาจากประสบการณ์การเดินทางส่วนตัว

“ไปจัดนิทรรศการกลางป่า ที่แม่ตื่นกัน”

ประโยคที่ “น้าชำ” เอ่ยกับผม เมื่อสองเดือนก่อน หลังจากที่เรามีโอกาสไปลงพื้นที่ใน อบต. แม่ตื่น อ. อมก๋อย กับการบันทึกภาพถ่ายวิถีชีวิตของชาวปกากญอ ในตอนนั้นผมคิดในใจว่า ช่างภาพมืออาชีพฝีมือระดับโลกอย่าง “น้าชำ” ที่เคยจัดแสดงภาพถ่ายในหอศิลป์ และอาร์ตแกลลอรี่มาแล้วในหลายๆ เมืองใหญ่ ทั้งกรุงเทพฯ และต่างประเทศ อยู่ดีๆ จะมาจัดแสดงภาพถ่ายกลางป่าเพื่อ... เพื่ออะไรกัน ?

หากเข้าใจไม่ผิด บริบทของการจัดแสดงงานภาพถ่ายส่วนใหญ่ก็เพื่อแสดงศักยภาพของช่างภาพ และความเป็นหน้าเป็นตาทางสังคม ความต้องการเหล่านี้จะมากหรือน้อยก็ขึ้นอยู่กับอัตตาของตัวช่างภาพเองว่าอยู่ในฐานะไหนในสังคม เป็นมือใหม่ หรือเป็นผู้ผ่านสังเวียนสนามประลองฝีมือมานักต่อนัก ความกระหายกับการปล่อยวาง คือเครื่องบ่งชี้หลักชัยที่สามารถเอาชนะกิเลสในใจตนว่าได้ก้าวผ่านจุดนั้นของชีวิตมาได้หรือยัง 






และการที่ “น้าชำ” ตัดสินใจที่จะนำภาพถ่ายไปจัดแสดงในกลางป่า บนดอยสูง ที่ไม่ได้เดินทางง่ายและสะดวก การตั้งใจนำภาพถ่ายไปแสดงให้กับบุคคลที่ปรากฏอยู่ในภาพได้เห็นภาพที่น้าชำได้บันทึกไว้ งานแสดงภาพที่ไม่มีผู้คนแต่งตัวด้วยชุดโก้หรู เดินกรีดกราย มือหนึ่งถือแก้วแชมเปญ มือหนึ่งสะพายกล้องหรือถือโทรศัพท์มาขอถ่ายภาพคู่กับช่างภาพเจ้าของผลงานคนแล้วคนเล่า ภาพเดิมๆ แบบที่เราเคยเห็นกันจนคุ้นตา ภาพเหล่านั้นจะไม่เกิดขึ้นที่นิทรรศการกลางป่าครั้งนี้อย่างแน่นอน















LIFE IS REAL จริงแท้คือชีวิต กับเรื่องราวที่น้าชำได้บันทึกภาพวิถีชีวิตของชาวปกากญอ ทั้งในแง่มุมของชีวิตที่ผูกพันและสัมพันธ์กันกับธรรมชาติป่าเขา น้ำตก ลำธาร รวมไปถึง วัฒนธรรมการใช้ชีวิต ความเป็นอยู่ ความเชื่อ รอยสักโบราณ วิถีการเลี้ยงสัตว์ การทำมาหากิน ทั้งหมดทั้งมวลน้าชำบอกว่า “ชีวิตที่นี่ คือ ชีวิตที่ปราศจากการปนเปื้อนจากวัฒนธรรมของคนเมือง มันยากมากที่จะหาที่ไหนในโลกที่จะพบเจอหมู่บ้านที่มีความเป็นอยู่แบบนี้ในยุคสมัยนี้ กับวัฒนธรรมที่ก่อเกิดจากวิถีชีวิตดั้งเดิม การนำภาพที่น้าถ่ายกลับมาแสดงที่หมู่บ้านในผืนป่า ก็เพื่อสร้างความภาคภูมิใจในชาติพันธุ์ของชาวปกากญอ เพื่อที่จะบอกว่าสิ่งที่เป็นอยู่ คือ วิถีชีวิตที่สวยงามและหาไม่ได้อีกแล้ว เราต้องช่วยกันรักษาไว้ ยิ่งพอรู้ว่าที่นี่กำลังจะถูกโปรโมทให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวสำหรับคนเมือง หรือนักท่องเที่ยว สิ่งที่เรากลัวคือการล่มสลายของวัฒนธรรมท้องถิ่นที่จะโดนนักท่องเที่ยวที่ไม่มีคุณภาพมากลืนกินจนหายไปหมดสิ้น เราไม่อยากให้ที่นี่เป็นอีกหนึ่งแหล่งท่องเที่ยวที่ต้องบอบช้ำเหมือนที่เคยเกิดขึ้นกับหลายๆ ที่มาแล้ว ไม่อยากให้ที่นี่ต้องปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตเพื่อเอาใจนักท่องเที่ยว และอยากให้นักท่องเที่ยวมาเที่ยวที่นี่เพราะต้องการมาสัมผัสความจริงที่ชาวปกากญอเป็นอยู่







 

หากถามว่า นิทรรศการภาพถ่ายเพื่อชุมชน  “LIFE IS REAL” ครั้งนี้ ประสบความสำเร็จหรือไม่อย่างไร คุ้มไหมกับการที่ลงทุนลงแรงขนภาพถ่ายจากกรุงเทพฯ ยุ่งยากกับการต้องส่งผ่านระบบการคาร์โก้ เพราะไม่สามารถโหลดมาพร้อมกับผู้โดยสารตอนบินมาเชียงใหม่ได้ และไหนจะต้องขนขึ้นดอยที่ต้องใช้เวลาในการเดินทางอีกร่วม 10 ชม.หากนับความสำเร็จเป็นค่าตอบแทน เป็นหน้าเป็นตาทางสังคม หรือเป็นรายได้จากการขายภาพ ขอบอกว่านิทรรศการครั้งนี้ล้มเหลวในทุกประเด็นที่กล่าวมา

แต่หากนับความสำเร็จ คือ การสร้างความภาคภูมิใจให้กับชาวปกากญอ ภูมิใจในวัฒนธรรมของชาติพันธุ์ตนเองผ่านมุมมองจากดวงตาที่สามของน้าชำ ชำนิ ทิพย์มณี รวมถึงได้สร้างแรงบันดาลใจให้กับคนท้องถิ่นที่มีโอกาสได้มาเห็น ได้มาพูดคุยกับน้าชำ ได้เห็นความตั้งใจในการให้คุณค่ากับสิ่งชาวปกากญอเป็นอยู่และมีอยู่

นิทรรศการครั้งนี้ ได้ทำหน้าที่นั้นอย่างสมบูรณ์แบบ ไม่มีที่ติจริงๆ 



นิทรรศการภาพถ่ายเพื่อชุมชน "LIFE IS REAL"
โดย ชำนิ ทิพย์มณี

จัดขึ้นเมื่อวันที่ 4-5 เมษายน 2560
ที่หมู่บ้านชาวปกากญอ อบต.แม่ตื่น อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่

RELATED