กว่าจะเป็นมิ้นท์ i roam alone ในทุกวันนี้ ต้องผ่านอะไรมาบ้าง เราชวนคุณแม่ของมิ้นท์ มานั่งคุยกันแบบที่ไม่เคยเล่าที่ไหนมาก่อน
ช่วง 2 ปีที่ผ่านมา หากเอ่ยถามถึงนักเดินทางที่หลายคนเฝ้าติดตามและตามติดในโลกออนไลน์ คงปฏิเสธไม่ได้ว่าชื่อของ มิ้นท์ มณฑล กสานติกุล หรือ มิ้นท์ I roam alone จะติดอยู่ในอันดับต้นๆ ที่หลายคนนึกถึง โดยแฟนเพจของมิ้นท์ I roam alone จำนวนหลายแสนนั้น นอกจากจะเป็นหนุ่มๆ สาวๆ แล้ว ยังขยายวงกว้างไปถึงเด็กน้อยวัยมัธยม จนถึงรุ่นที่มีลูกหลานวัยใกล้เกษียณ
อะไรทำให้หลายคนชมชอบหรือชื่นชมมิ้นท์ขนาดนั้น
มิ้นท์ เป็นสาวนักเดินทางฉายเดี่ยว วัยใกล้ 30 ปี ที่พูดได้ถึง 5 ภาษา เพิ่งเที่ยวมาได้ราว 5 ปี ก็ครอบคลุมเกือบทั่วโลก ไปมาแล้วทุกทวีป แถมมีพ็อกเก็ตบุ้คเป็นของตัวเองมาแล้วถึง 2 เล่ม มิ้นท์เป็นผู้หญิงนักเดินทางที่มีมุมมองชีวิตและมองโลกผ่านการเดินทางได้อย่างน่าสนใจ จนหลายๆ คนอยากเอาอย่าง อยากเติบโตในเส้นทางการเดินทางแบบนี้บ้าง
มิ้นท์โดนหนังสือและรายการทีวีสัมภาษณ์มามากนักต่อนัก แต่วันนี้ เราไม่ได้อยากสัมภาษณ์มิ้นท์ I roam alone แต่เราอยากสัมภาษณ์คุณกุณฑล กสานติกุล หรือคุณแม่ของมิ้นท์มากกว่า เพราะเราเชื่อว่ากว่ามิ้นท์จะมาเป็นมิ้นท์อย่างที่หลายๆ คน ปลื้มกันนั้น... ไม่ใช่เรื่องง่าย และมีความลับมากมายเกี่ยวกับมิ้นท์ที่เราอยากรู้
มิ้นท์โตมายังไง
ถูกเลี้ยงมาแบบไหน
ตอนเด็กๆ ทะโมน ซน และแก่นเซี้ยวไหมนะ
ฉายแววเป็นนักเดินทางบ้างหรือเปล่า
กับทุกข้อสงสัยเหล่านี้
จะมีใครให้ข้อเท็จจริงเราได้ดี มากไปกว่า “แม่” ของมิ้นท์
01 แผนลับสร้างความมั่นใจให้ลูก
เมื่อเราถามไถ่ถึงความมั่นใจในการตะลอนโลก การกล้าทำอะไรด้วยตัวเองของมิ้นท์ สิ่งเหล่านี้มันเกิดขึ้นได้อย่างไร มิ้นท์ฉายแววนี้ให้เห็นตอนไหน คุณแม่ก็เล่าให้ฟังว่า จริงๆ แล้ว มิ้นท์ถูกเลี้ยงแบบเตรียมความพร้อมเพื่อให้รู้จักคิดเอง ตัดสินใจเองมาตั้งแต่เล็กๆ แล้ว พอหลังจากเป่าเค้กวันเกิดตอน 5 ขวบ ก็มีกติกากันชัดเจนว่าหลังจากนี้ทุกปี มิ้นท์กับม๊าต้องตกลงกันนะ ว่าปีนี้มิ้นท์อยากทำอะไรเอง มีเป้าหมายอะไรที่อยากเปลี่ยนแปลงทักษะของตัวเอง โดยแม่ให้มิ้นท์เป็นคนคิดเอง ตัดสินใจเอง โดยครั้งแรกในวัย 5 ขวบนั้น คุณแม่เป็นผู้เริ่มคิดให้ คือ “การเลิกติดขวดนม” คือมิ้นท์เป็นเด็กที่ติดขวดนม ก็คงไม่ต่างจากเด็กทั่วไป แต่แม่คิดว่าถึงเวลาที่เขาต้องโตขึ้น ต้องเรียนรู้ที่จะตัดใจกับสิ่งที่คุ้นเคย ก็เลยอยากฝึกให้มากินนมจากแก้ว กินนมกล่อง ซึ่งตอนนั้นมิ้นท์ก็ยอมรับเงื่อนไขนี้โดยดี
แล้วมีปีไหนบ้างไหม ที่มิ้นท์มีเป้าหมายในใจมากกว่า 1 เรื่องที่อยากทำ
ก็มีนะคะ แต่แม่ก็จะบอกแค่ว่า ถ้าเลือกอันนี้ มิ้นท์จะต้องเจออะไรบ้าง ต้องเสียอะไรบ้าง ต้องผจญกับอะไรที่จะตามมาบ้าง คือทำหน้าที่แค่ให้ข้อมูลว่า 2 สิ่งที่กำลังเลือกนั้น มีข้อดีและสิ่งที่จะตามมาหรือเกิดขึ้นอย่างไร ท้ายสุดมิ้นท์ก็ต้องไปตัดสินใจเอง เลือกเอง เลือกได้แล้วก็มาบอกแม่
ม๊ากับมินท์ก็ทำอย่างนี้กันมาเรื่อยๆ ทุกปี จนเขาโตมากพอแล้ว ก็เลิกทำ ซึ่งก็เป็นธรรมดาที่บางเรื่องที่ทำแล้วไม่สำเร็จตามเป้าหมาย แม่ก็พยายามสอนมิ้นท์ว่าอย่าไปโฟกัสกับความผิดพลาดที่เกิดขึ้นจากสิ่งที่เราได้ตัดสินใจทำไปแล้ว เพียงแต่ทุกการตัดสินใจไม่ว่าเรื่องอะไรก็ตาม ต้องคิดให้ดีก่อน คิดให้ละเอียด ต้องรู้ว่าทำแล้วจะมีผลดีผลเสียอะไรเกิดขึ้นบ้าง แล้วค่อยตัดสินใจลงมือทำ ฉะนั้นเมื่อทำแล้วผิดพลาด ก็ไม่ต้องไปยึดติด เพราะเราได้คิดมาอย่างดีแล้ว
02 ต้นทุนในการเอาตัวรอด
เราสงสัยเรื่องที่มิ้นท์พูดได้หลายภาษา เราอยากรู้ว่าความคิดนี้เกิดขึ้นจากตัวมิ้นท์เอง หรือมีแม่เป็นเข็มทิศนำทาง
คือแม่มีความคิดว่า การเป็นผู้หญิงถ้าเรามีความสามารถมีทักษะในการสื่อสารได้หลายภาษา ก็จะสามารถเอาตัวรอดได้ในหลายๆ สถานการณ์ ในๆ หลายพื้นที่ที่เราอยู่ คือคิดแค่ว่าถ้าอยู่ไหน แล้วมีคนพูดจาหรือคิดที่จะทำร้ายเรา เราก็ฟังออก เราได้ยินก็จะรู้ ซึ่งเขาก็อาจไม่รู้นะว่าเรารู้ภาษาเขา แต่ตอนมิ้นท์เด็กๆ ก็ยังไม่ได้คุยกันถึงเรื่องนี้ ไม่ได้เล่าให้ฟังถึงความตั้งใจอันนี้ของแม่ ก็แค่พาเขาไปโรงเรียนสอนภาษาจีนที่อยู่ในห้างใกล้ๆ บ้าน ก็คอยสังเกตดูว่ามิ้นท์มีท่าทีอย่างไร เขาชอบไหม ก็พาไปบ่อยๆ จนมิ้นท์อยากเรียน
คือทักษะหลายๆ อย่างในชีวิต ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเล่นดนตรี เรื่องงานศิลปะต่างๆ ล้วนมาจากความชอบส่วนตัวของมินท์เอง แม่ทำหน้าที่แค่เป็นผู้ให้การสนับสนุน ไม่เคยห้าม คือไม่เอาความหวังหรือความต้องการของเราไปยัดเยียดให้ลูก เพราะถ้าเขาต้องทำเพราะฝืน เขาก็น่าจะไม่มีความสุขนะ ก็คิดแค่นี้ ก็ต้องคอยสังเกต คือแม่เชื่อว่าแม่ทุกคนจะรู้จักลูกของตัวเองดี เราจะรู้ว่าลูกชอบอะไร ไม่ชอบอะไร แม่เองเลี้ยงเขามาก็คอยสังเกตตลอด ก็จะรู้ว่าลูกเราทำอะไรแล้วเขามีความสุข ก็ให้เขาทำต่อไป
03 การก้าวผ่านจากคุณหนูจอมวี๊ด
มาเป็นสาวมั่น นักเดินทาง
เมื่อถามคุณแม่ถึงมิ้นท์คนก่อนหน้านี้ ก่อนที่จะมาเป็นมิ้นท์มาดมั่น อย่างที่เราได้เห็นกัน
คุณแม่เล่าทุกคำด้วยน้ำเสียงสดใส ปนเสียงหัวเราะเป็นระยะๆ เมื่อได้มีโอกาสย้อนกลับไปฉายภาพของลูกสาวคนเดียวของบ้านว่าจริงๆ แล้วเมื่อก่อน มิ้นท์ มีความเป็นคุณหนูมากขนาดไหน
คือหลายคนอาจจะไม่เชื่อว่าเมื่อก่อนนี่คนละเรื่องกับปัจจุบันเลย คือเธอคุณหนูมากๆ นะคะ แล้วก็ฤทธิ์เดชเยอะ จัดได้ว่าไม่ธรรมดาในความวี๊ด เวลาที่มีอะไรไม่ได้ดั่งใจ อารมณ์ฉุนเฉียวง่าย ยิ่งช่วงเรียนมหาวิทยาลัยปีแรกๆ เป็นช่วงวัยเปลี่ยน กลุ่มเพื่อนเปลี่ยน โลกรอบตัวเปลี่ยน หลายๆ เรื่องที่เคยคุยกันได้ ก็ไม่คุยกันแล้ว เริ่มคุยไม่รู้เรื่อง (หัวเราะ)
แล้วคุณแม่ทำอย่างไรในตอนนั้น
ก็ไม่ต้องทำอะไรค่ะ ก็ต้องเข้าใจเขา ส่วนหนึ่งก็รู้ว่าเป็นช่วงฮอร์โมนเปลี่ยน เดี๋ยวพอถึงวันหนึ่งก็หาย ก็กลับมาคุยกันได้เหมือนเดิม แม่ก็รู้ว่าแม่ต้องไม่ฉุนเฉียว ต้องใจเย็นมากกว่าปกติ ต้องไม่ปะทะกันด้วยอารมณ์กับลูก เพราะถ้าเราทำอย่างนั้นเดี๋ยวจะยิ่งเตลิดไปกันใหญ่ เวลามิ้นท์เขาวี๊ดๆ มา ก็รอให้เขาใจเย็นก่อน ใจเย็นแล้วเวลาคุยกันก็จะรู้เรื่องมากขึ้น
ซึ่งพอหลังจากจบอักษร แล้วต้องไปเรียนต่อที่สเปน หลายๆ เรื่องที่เป็นพื้นฐาน หรือจะเรียกว่าเป็นภูมิคุ้มกันในการเอาตัวรอดที่ถูกปลูกฝังมาตั้งแต่เด็ก ก็เริ่มถูกเอาออกมาใช้โดยที่มิ้นท์อาจไม่รู้ตัว แต่พอเขาเจอสถานการณ์ที่ต้องแก้ปัญหา ต้องตัดสินใจด้วยตัวเอง เขาก็ทำได้ดี
แล้วเขามีอะไรก็จะเล่าให้เราฟังตลอด ตอนนี้อยู่ไหน ทำอะไร เจอเรื่องอะไรมา ก็จะโทรมาคุย มาเล่าให้แม่ฟัง ว่าม๊ามันอย่างนั้นอย่างนี้นะ
เรื่องเล่าให้ฟังนี่ คุณแม่ตั้งเป็นกฎเกณฑ์ หรือว่ามิ้นท์ชอบมาเล่าให้ฟังเอง
คือจริงๆ เรื่องนี้ แม่ฝึกเขามาตั้งแต่เด็กๆ แล้วค่ะ ฝึกให้เขามีความสุขกับการเล่าเรื่องที่เกิดขึ้นในแต่ละวันให้เราฟัง คือตั้งแต่ยังเล็กๆ เวลาไปโรงเรียนกลับมา แม่ก็จะคอยถามว่า วันนี้ที่โรงเรียนเป็นอย่างไรบ้าง มีอะไรตื่นเต้นไหม เพื่อนคนนั้นคนนี้เป็นยังไง คือเป็นคำถามที่เปิดโอกาสให้เขาได้เล่าเยอะๆ เราก็คอยฟังอย่างตั้งใจ ปล่อยให้เขาเล่า อย่าไปแย้งหรือไปขัดจังหวะตอนที่ลูกเล่า เราฟังแล้วเราก็รู้ มองออกว่าตอนนี้ลูกคิดอะไรอยู่ ถ้าเรื่องไหนที่เราเห็นว่าเริ่มไม่เข้าที่เข้าทาง แม่ก็จะเก็บไปคิด แล้วไปหาวิธีกลับมาสอนเขาทีหลัง ให้เข้าที่เข้าทาง ทีนี้พอเขาได้เล่า แล้วเห็นว่าเราตั้งใจฟังมาก เขาก็จะสนุกกับการได้บอกเราว่าเกิดอะไรขึ้นกับเขา ก็ทำมาเรื่อยๆ จนในที่สุดก็กลายเป็นกิจวัตรระหว่างมิ้นท์กับแม่ ทีนี้เราก็ไม่ต้องคอยถามแล้ว เขาก็จะเล่าเอง เล่าทุกเรื่องที่เขาไปเจอมา ไม่ว่าเรื่องเรียน เรื่องงาน เรื่องผู้คนที่ต้องไปพบเจอ เราก็รู้ว่าลูกไปทำอะไรยังไงที่ไหนมาบ้าง
มาถึงวันนี้ก็เห็นการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นเยอะมาก ไม่เหลือความเป็นคุณหนูจอมวี๊ดคนเดิมแล้ว แม่ว่าการที่เขาได้เดินทางคนเดียวทำให้เขาได้เรียนรู้อะไรเยอะมาก ยิ่งตอนนี้ได้มีโอกาสไปทำงานกับคนเก่งๆ มิ้นท์เขาก็ได้เรียนรู้จากหลายๆ คนที่ได้ไปทำงานด้วย ก็ใจเย็นขึ้นมากในหลายๆ เรื่อง เหมือนจะเข้าใจถึงเรื่องวิถีการทำงานกับคนที่มีความหลากหลาย ซึ่งก็พูดได้ว่าทุกวันนี้ไม่มีอะไรต้องห่วงแล้ว
04 เหตุผลที่กล้าปล่อยไปผจญภัยท่องโลก
หลายคนน่าจะสงสัยเหมือนกันกับเราว่าอะไรคือเหตุผลที่คุณแม่ยอมตัดใจ ปลดล็อคความห่วงและหวง ยอมปล่อยให้มิ้นท์ลูกสาวคนเดียว แถมอยู่ในวัยล่อแหลมได้ออกไปท่องโลกด้วยตัวคนเดียว และบางครั้งก็หายไปเป็นเวลาหลายเดือน
คือจริงๆ แล้ว เหตุผลหลักๆ น่าจะเป็นเรื่องของการที่เรารู้จักกันดีนะคะ แม่ก็เลยกล้าที่จะปล่อยน้องมิ้นท์ไปไหนต่อไหนอย่างที่ทุกๆ คนเห็นกัน คือเราเลี้ยงเขามากับมือ อยู่ด้วยกันมาตลอดตั้งแต่ยังเล็กๆ ก็รู้นิสัยลูกดีว่าจริงๆ แล้วเธอเป็นเด็กกลัวตายมากๆ คือ ถ้าให้เลือกระหว่างศักดิ์ศรีกับชีวิตนี่ มิ้นท์จะยอมทิ้งศักดิ์ศรีเพื่อให้ตัวเองรอดนะคะ ก็เลยมั่นใจว่าถ้าอะไรก็ตามที่มีเรื่องของความเสี่ยงเข้ามาเกี่ยวข้อง เขาจะไม่เสี่ยงอย่างแน่นอน ไม่เอาชีวิตไปแลกกับเรื่องที่เห็นว่ามันไม่คุ้มแน่ๆ บวกกับมีอะไรเขาก็โทร.มาหาตลอด ทุกครั้งที่มีปัญหาก็จะโทรมาหาแม่ มาปรึกษา มาเล่าให้ฟัง อย่างเมื่อก่อนนี้ ตี 2 ตี 3 โทรศัพท์ดัง รู้เลยว่าเป็นเขาโทรมา เพราะมีอยู่คนเดียวที่จะโทรมาเวลานี้ ก็จะถามไปว่า “มีอะไรลูก” ก็รอฟัง ให้เขาเล่าให้ฟังว่าเกิดอะไรขึ้น สิ่งที่เกิดขึ้นเหล่านี้ ก็เหมือนเราไม่ห่างกันนะคะ เหมือนแม่มีกล้องวงจรปิดตามส่องมิ้นท์อยู่ตลอดเวลา เพราะเขาบอกเราทุกอย่างว่าไปเจออะไรมา ทำอะไรอยู่ จะสุข หรือทุกข์ เราก็จะรู้ตลอด
ส่วนอีกเหตุผล ซึ่งไม่รู้ว่าจะเกี่ยวหรือเปล่านะคะ คือตัวแม่เองถูกเลี้ยงมาแบบไม่มีโอกาสได้ไปไหนเองเลย ไม่เคยได้ตัดสินใจเอง ไปเรียนหนังสือก็มีรถคอยรับส่งตลอด เลิกเรียนนี่กลับบ้านเองไม่ได้ หลง (หัวเราะ) ฉะนั้นเรื่องเที่ยวเรื่องเดินทางนี่ ยิ่งไม่มีเลย เลยโตมาแบบไม่ได้ไปไหน แล้วพอทำงานทำการ มีโอกาสที่จะเดินทางได้ ก็ไม่กล้าอีก กลายเป็นคนไม่มั่นใจในตัวเอง เพราะเราไม่เคยถูกปล่อยให้ได้ตัดสินใจเองหรือดูแลตัวเองมาก่อน ก็เลยคิดเอาเองนะคะว่าถ้าชั้นมีลูก ลูกต้องไม่เป็นแบบชั้น เพราะเราคิดว่าเราพลาดอะไรในชีวิตไปเยอะมากๆ จากการถูกจำกัดพื้นที่ ยิ่งในโลกปัจจุบันทุกวันนี้ คนที่ได้เห็นโลกมาก จะยิ่งมีมุมมองที่กว้างกว่า เข้าใจอะไรๆ รอบตัวได้เร็วกว่า แม่ก็เลยไม่คิดห้าม ไม่เคยทักท้วง เพียงแต่ช่วยดูว่าจะสนับสนุนมิ้นท์อย่างไรให้เขาได้เดินทางแล้วสบายใจที่สุด ซึ่งบางทริปที่มิ้นท์จะไปไหนที่มันดูโหดๆ หน่อย แล้วแม่ไม่ทักท้วง มิ้นท์ก็จะถามว่า “นี่แม่จะไม่ห้าม หรือรั้งหน่อยเลยเหรอ” (หัวเราะ)
05 เส้นบางๆ แห่งความไว้วางใจ
คุณแม่เล่าต่อว่า ไม่ว่าจะเป็นทุกวันนี้ หรือก่อนหน้านี้ ก็ยังคงมีเสียงจากคนรอบข้างถามอยู่ตลอด เวลาเห็นเราปล่อยลูกไปโน่นไปนี่ ไปทำอะไรที่เกินความคาดหมายของคนทั่วไป ทำไมปล่อยลูกขนาดนี้
จริงๆ จะว่าปล่อยก็ได้นะคะ ก็ปล่อยจริงๆ แต่ในเบื้องหลังนั้น แม่กับมิ้นท์ เรามีกติการะหว่างกันอยู่ มีเส้นที่เป็นสุดขอบของการใช้ชีวิตว่าได้แค่ไหน และมิ้นท์จะก้าวข้ามเส้นนี้ไปไม่ได้ ซึ่งเราเข้าใจตรงกัน เส้นที่ว่าเป็นเส้นเดียวกัน
อย่างตอนสมัยที่มิ้นท์เรียนมหาวิทยาลัย ก็มีขอไปเที่ยวกลางคืนบ้าง แม่ก็เข้าใจว่าเป็นเรื่องปกติของวัยเขา ก็ไม่ห้าม แต่มีกติกาของเส้นที่ว่า คือ จะไปได้ก็ต่อเมื่อมีเพื่อนคนนี้ไปด้วย คือ ตอนนั้นมีเพื่อนที่บ้านอยู่ทางเดียวกัน ฉะนั้นถ้าคนนี้ไปด้วย ตอนกลับก็มีเพื่อนกลับมาด้วยกัน แม่ก็บอกมิ้นท์ชัดเจนว่าถ้าเพื่อนคนนี้ไม่ไป แม่ไม่ให้ไปนะคะลูก และต้องกลับมาด้วยกันทุกครั้ง คือ มิ้นท์เขาก็จะรู้ว่าอะไรได้อะไรไม่ได้ จริงๆ เขาเป็นเด็กฉลาดมาก จะพูดว่าฉลาดแกมโกงก็ได้ ฉะนั้นเขาจะรู้ว่าถ้าเรื่องไหนเขาไม่เคารพกติการะหว่างเขากับแม่แล้วจะเกิดอะไรขึ้น เขาก็จะไม่ทำอะไรนอกกติกาที่ตกลงกันไว้ คือแม่ก็เห็นในความเป็นเขา หลายๆ เรื่องก็ดูอยู่ห่างๆ และหลายๆ เรื่องก็อยากเตือน อยากบอก แต่รู้ว่าเขาอยากลอง อยากพิสูจน์ความแน่ของตัวเอง ก็ต้องปล่อย ปล่อยให้เจ็บด้วยตัวเองบ้าง จะได้จำ จะได้รู้ โดยเฉพาะเรื่องความรัก
06 แม่คะ ทำไมหนูไม่มีแฟนสักที
เมื่อไม่นานมานี้ มิ้นท์ก็มาเปรยๆ กับแม่ ว่า “ม๊า มิ้นท์จะสามสิบแล้วนะ ทำไมยังไม่มีแฟนสักที จะได้มีไหมเนี่ย” แม่ก็บอกไปว่า ชั้นว่าคนที่จะมาเป็นแฟนแกเนี่ย เขาควรจะต้องรู้นะว่าถ้ามาเป็นแฟนกับแก คือต้องมาร่วมใช้กรรมกับแก” (หัวเราะ) คือ ใช่ไหมคะ เพราะเดือนๆ หนึ่ง อยู่บ้าน อยู่เมืองไทยสักกี่วัน ไปตะลอนๆ ผู้ชายที่ไหนจะมาเข้าใจได้กับเรื่องที่มีเวลาและระยะทางเป็นเงื่อนไข
แล้วคุณแม่มีภาพของหนุ่มที่จะมาเป็นลูกเขยในใจไหม
จริงๆ คือ ไมได้คิดเลยค่ะ คือ ทุกวันนี้เห็นเขาทำโน่นทำนี่แล้วมีความสุข ก็คิดว่ามันโอเคแล้ว เรื่องคู่ครองของลูกจะมีหรือไม่มีไม่ได้ถือเป็นเรื่องใหญ่ คือ แม่คิดว่าถ้ามีโอกาสเจอคนที่ใช่คนที่เหมาะกับเขาจริงๆ เขาจะรู้เอง เพียงแต่ตอนนี้อาจยังไม่ถึงเวลา เพราะเขาเองก็มีเรื่องของความเชื่อมั่นในตัวเองค่อนข้างสูง บางทีก็มีอารมณ์อยากทดสอบฝั่งผู้ชายบ้าง แม่ก็ปล่อย ตามใจเขา พอเจ็บมาทีก็จะมาปรึกษากันที แม่ก็ให้คำแนะนำเขาไป อย่างที่เขาเคยไปเขียนเรื่องความรักกับการเดินเหยียบเม็ดกรวด ถ้ามันไม่ใช่ทนเดินต่อไปมันก็เจ็บเท้าเรา แม่ก็บอกเขาไป ก็แหย่ๆ แซวๆ ว่าเดินเหยียบกรวดมากๆ ระวังเท้าด้านจนไร้ความรู้สึกนะแก (หัวเราะ)
แต่การที่มิ้นท์ยังไม่มีแฟนก็ถือเป็นเรื่องดีนะคะ เขาเลยมีเวลาไปทำอะไรหลายๆ อย่าง ได้ใช้พลังกับการงานและการเดินทางอย่างเต็มที่ อย่างเรื่องที่ตอนนี้มิ้นท์มีโอกาสไปช่วยงานชุมชน งานโครงการหลวง อันนี้แม่มีความสุขมาก คือนานมาแล้วเวลาดูทีวีกับอาม่า เห็นรายการแนวที่มีคนไปทำงานในชุมชน ในหมู่บ้านชาวเขาไกลๆ ก็คุยกันว่าถ้ามิ้นท์ได้ทำงานแล้วไปช่วยเหลือชุมชนอย่างนี้ก็น่าจะดี ซึ่งเรื่องนี้แม่ก็ไม่ได้กะเกณฑ์อะไร ก็ไม่คิดไม่ฝันว่าพอถึงวันนี้แล้ว เขาจะมีโอกาสได้ไปทำงานช่วยเหลือชุมชนแบบที่เราเคยฝันไว้ แม่ก็รู้สึกสุขใจมากกับเรื่องนี้
ทุกวันนี้ก็คิดว่าไม่มีอะไรต้องห่วงแล้วค่ะ เชื่อว่ายังไงลูกก็เอาตัวรอดได้ ก็จะคอยเป็นแรงหนุน ให้การสนับสนุนในสิ่งที่เขาอยากทำต่อไป
คุณแม่ของน้องมิ้นท์พูดทิ้งท้ายไว้กับเรา