SHARE
เมื่องาน Graffiti ทำหน้าที่สานต่อวัฒนธรรมที่เมืองสงขลา

ศิลปะบนกำแพงกับการเชื่อมโยงวิถีชีวิตท้องถิ่น

SHARE


นับเป็นกุศโลบายอันชาญฉลาดเพื่อการเชื่อมโยงคนรุ่นใหม่ กับวัฒนธรรมท้องถิ่นที่อยู่คู่เมืองเก่าสงขลามาเนิ่นนาน ด้วยการสร้างสรรค์งานศิลปะ Graffiti ที่เข้าถึงง่าย และแฝงไว้ด้วยเรื่องราวที่สนุกและซุกซนทางความคิด เป็นลายเส้นบนผนังกำแพงที่จะกลายเป็นอีกหนึ่งหมุดหมายใหม่ทางศิลปะที่ไม่อาจก้าวผ่านไปได้ เมื่อผ่านมาพบเจอบนถนนนางงามแห่งนี้



 

โปรเจ็คนี้เกิดขึ้นโดยคุณป๊อก-ไพโรจน์ พิเชฐเมธากุล Street Artist ที่ทำงานอยู่ที่นิวยอร์ก กว่า 9 ปี ประสบความสำเร็จและเป็นที่รู้จักในวงกว้างในกลุ่มศิลปิน กับผลงาน  The Positivity Scrolls ภาพวาดคนไร้บ้าน ที่มุ่งบอกเล่าเรื่องราวของคนชายขอบที่ถูกมองข้าม จนเมื่อกลับมาเมืองไทยในช่วงปีที่ผ่านมา ก็ยังคงสานต่อเจตนารมณ์เดิมในการวาดภาพบุคคลต่างๆ ที่ทำงานริมบาทวิถี หรือคนที่ถูกมองข้ามในศักยภาพที่มีอยู่ บนแนวคิดที่เชื่อว่าทุกคนล้วนมีเรื่องราวที่ยิ่งใหญ่ของตัวเองทุกคน รวมถึงการสร้างสรรค์งานศิลปะบนกำแพงในเรือนจำที่เป็นโครงการระยะยาว และเพิ่งเริ่มไปได้ในระยะหนึ่งเท่านั้น ซึ่งเป็นอีกหนึ่งความตั้งใจในการสนับสนุนคุณค่าแห่งความเป็นมนุษย์ของคนทุกคน ที่ต้องอาศัยความมุ่งมั่นในการทำงานอย่างต่อเนื่องจนแบบไม่มีเวลาส่วนตัวได้พักผ่อน

และในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา เมื่อได้รับคำเชิญจากคุณเอ๋-ปกรณ์ รุจิระวิไล เจ้าของ a.e.y. space ย่านเมืองเก่า สงขลา ผู้เป็นที่รักของคนท้องถิ่นที่ตระหนักรู้และเห็นคุณค่าของการอนุรักษ์วัฒนธรรมพื้นถิ่นไว้ให้คงอยู่ได้อย่างแข็งขัน ให้แวะมาเที่ยวและพักผ่อนที่สงขลา คุณป๊อก จึงมีความตั้งใจที่จะมาสร้างสรรค์งานศิลปะ Graffiti ไว้เป็นส่วนหนึ่งในย่านเมืองเก่าของสงขลา โดยมีความตั้งใจที่จะเชื่อมโยงงานศิลปะยุคใหม่กับวิถีวัฒนธรรมท้องถิ่นเดิมให้คงอยู่และผสานรวมเป็นหนึ่งเดียวกัน



แทบจะในวินาทีแรก ที่เดินทางมาถึงย่านเมืองเก่าของสงขลา หลังจากลงเครื่องที่หาดใหญ่ คุณป๊อกและทีมศิลปินรุ่นน้อง ที่พร้อมใจกันมาด้วยความตั้งใจเดียวกัน ต่างออกท่องและเดินเสาะหาตึกที่มีพื้นที่ว่างบนกำแพง โดยตั้งใจที่อยากได้พื้นที่ของตึกเก่าที่มีเรื่องราวของการทำงานของคนพื้นที่ หรือเป็นวิถีชีวิตท้องถิ่นที่มีการสืบสานมาอย่างต่อเนื่องเนิ่นนาน จนกลายเป็นวัฒนธรรมแห่งการใช้ชีวิตของคนที่นี่ ซึ่งคุณเอ๋ พี่ใหญ่ที่เป็นที่เคารพและนับถือของคนที่นี่ได้เป็นผู้ให้คำแนะนำ พาชม และให้ข้อมูลของเรื่องราวของอาคารแต่ละที่ จนมาลงตัวที่ผนังกำแพงของร้านไอติมยิว หรือชื่อเดิมคือ “จิ่น กั้ว หยวน” ที่ถูกเรียกจนกร่อนเสียงเป็นคำติดปากว่า “ไอติมยิว” ซึ่งร้านไอติมแห่งนี้มีอายุเกินกว่า 80 ปี เปิดค้าขายกันมาเกินกว่า 3 รุ่น บนถนนนางงาม นับเป็นหนึ่งในหลายๆ ร้านในย่านเมืองเก่า ที่ยังคงวัฒนธรรมการค้าขายในแบบดั้งเดิมที่นับวันก็ยิ่งหายากมากขึ้นเรื่อยๆ แต่ด้วยความตั้งใจของเจ้าของที่ไม่อยากเปลี่ยนแปลง และยังคงอยากเก็บรักษาวิถีชีวิตท้องถิ่นไว้ให้คงเดิมมากที่สุดเท่าที่จะทำได้



คุณเอ๋ และคุณป๊อก จึงเห็นพ้องต้องกันว่าผนังตึกของร้านไอติมยิวนี่แหละ ที่เหมาะสำหรับการสร้างสรรค์งานศิลปะที่จะเชื่อมโยงวัฒนธรรมดั้งเดิมกับคนรุ่นใหม่ ให้เป็นหนึ่งเดียวกัน และในค่ำคืนนั้น การระดมความคิด แลกเปลี่ยนมุมมอง ก็ได้เกิดขึ้นในชั่วข้ามคืน ที่ a.e.y. space โดยมีความเห็นตรงกันว่า ลวดลายของงานศิลปะ Graffiti ที่จะวาดนั้น จะไม่ได้เป็นเพียงลายที่สวยชวนให้คนอยากมาถ่ายรูปเท่านั้น แต่อยากให้สะท้อนเรื่องราวของร้านไอติมยิว ความมีชีวิตชีวา อารมณ์ของความสดชื่น สดใส เมื่อได้กินไอติมที่มาจากความตั้งใจของคนรุ่นพ่อแม่ ที่ตั้งใจทำไอติมมาเสิร์ฟเราในทุกๆ ถ้วย อยากให้ภาพของ Graffiti ที่ปรากฏนั้น ดูสนุกและซุกซนกับไอติมแบบเข้าถึงง่าย “เราควรเคารพและให้เกียรติวัฒนธรรมท้องถิ่น กับเรื่องราวของวิถีชีวิตที่งดงาม มากกว่าแค่วาดรูปอะไรที่ชวนให้คนอยากมาถ่ายรูปเท่านั้น” เพราะถ้าเป็นเช่นนั้น เราจะมีรูปอะไรก็ไม่รู้ที่ไม่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับเมืองเต็มไปหมด

หลังจากแนวคิดในการสร้างสรรค์ที่ชัดเจนได้ประกอบเป็นรูปเป็นร่างขึ้น ทางคุณป๊อกและน้องๆ ทีมศิลปินที่ล้วนเป็นศิษย์เก่าของมหาลัยศิลปากร ซึ่งประกอบด้วย คุณกระแต-นุชจรีย์ คุณแจ้-อุทิศ โพธิ์คำ และคุณตู่-ชัยศักดิ์ ศรีราแดง ได้เริ่มแบ่งงานและวางแผนในการทำงานซึ่งมีเวลาอย่างจำกัดเพียงช่วงกลางวันของเสาร์-อาทิตย์ ที่นับๆ แล้วไม่น่าเกิน 20 ชม. เท่านั้น ซึ่งถือเป็นการทำงานที่ค่อนข้างท้าทายกับพื้นที่การทำงานที่ค่อนข้างใหญ่โต พร้อมอุปสรรคทางธรรมชาติกับฝนฟ้าที่ไม่ค่อยจะเป็นใจมากเท่าไหร่นัก การแบ่งงานและกระจายกำลังฝีมือในการทำงานครั้งนี้จึงไม่ใช่เรื่องที่จะมองข้ามได้





ในเช้าการทำงานวันแรก หลังทีมนั่งร้านมาติดตั้งให้อย่างรวดเร็ว โดยการจัดหาและติดตั้งจากทีมของคุณเอ๋ ที่เกิดขึ้นอย่างทันใจเหนือความคาดหมาย ทางคุณป๊อกและน้องๆ ทีมศิลปิน ต่างพร้อมกันกระจายกำลังในการขึ้นแบบร่างอย่างรวดเร็วและแม่นยำ โดยในทุกขณะของการทำงานได้รับการดูแลอย่างดีเยี่ยมจากผู้หลักผู้ใหญ่ของร้านไอติมยิว และจากทางที่พัก “บ้านในนคร” ตึกคู่ขนานฝั่งตรงข้ามของกำแพงตึกของร้านไอติม ที่ต่างจัดหาขนมนมเนย น้ำท่า และหมั่นมาถามสารทุกข์สุกดิบอยู่ตลอด ถือเป็นกำลังใจที่ดีเยี่ยมและสร้างบรรยากาศในการทำงานที่อบอุ่น ซึ่งเพียงเท่านี้ก็ถือเป็นสัญญานอันดีของการเชื่อมโยงงานศิลปะกับวิถีชีวิตดั้งเดิมของคนท้องถิ่นได้อย่างดีเยี่ยม





จากแบบร่าง สู่การลงสีพื้น จากสีพื้นสู่การลงรายละเอียด มือต่อมือ พู่กันต่อพู่กัน ฝีแปรงที่ถูกจุ่มสีปาดลงบนผนังกำแพง นับร้อยนับพันครั้ง แต่ไม่น้อยไปกว่าเสียงหัวเราะ รอยยิ้ม จากทั้งทีมศิลปิน เจ้าบ้าน และคนท้องถิ่นที่เดินผ่านไปมา ถามไถ่ ตื่นเต้น และร่วมเฝ้ารออย่างจดจ่อ บ้างยืนรอชื่นชมภาพที่จะเสร็จสมบูรณ์ บ้างขอถ่ายรูปเก็บความประทับใจระหว่างการทำงาน บ้างซื้อหาขนม น้ำ มาฝากอย่างห่วงใยและพร้อมเป็นกำลังใจให้กับทีมศิลปิน แววตาของคนท้องถิ่นสดใสอย่างเห็นได้ชัดเมื่อเห็นภาพตัวการ์ตูนถือไอติม มีอีกตัวนั่งอยู่บนก้อนไอติม หลายคนเปรยให้ได้ยินว่า “อยากกินไอติมเลย ตอนนี้”























และในช่วงเย็นย่ำของวันอาทิตย์ จากภาพร่างบนแผ่นกระดาษก็ได้ถูกสร้างสรรค์เป็นภาพวาด Graffiti บนผนังด้านข้างตึกของร้านไอติมยิว ซึ่งแน่นอนว่าระหว่างชั่วโมงการทำงานต้องลุ้นกับสายฝนที่ตกมาให้พอกังวลใจบ้างเป็นระยะๆ ว่าทางทีมศิลปินจะสามารถทำงานสำเร็จได้ทันเวลาหรือไม่ เพราะมีกำหนดที่จะต้องเดินทางกลับกรุงเทพฯ ในช่วงค่ำ เนื่องจากมีภาระการงานที่ต้องกลับมารับผิดชอบ แต่ท้ายสุดก็พิสูจน์ได้ว่าแม้จะมีอุปสรรคจากสายฝน ที่ต้องหยุดการทำงานในบางช่วง หรือต้องซ่อมงานบางส่วนจากการโดนน้ำฝน แต่ด้วยความเป็นมืออาชีพของคุณป๊อกและทีมน้องๆ ศิลปิน ก็สามารถสร้างสรรค์ชิ้นงานอันสมบูรณ์ได้ดังความตั้งใจทันเวลาที่กำหนด และเป็นที่ชื่นชอบของเจ้าบ้าน และครอบครัวเจ้าของร้านไอติมยิวรวมถึงคนท้องที่ทุกคนที่ได้มีโอกาสเดินมาพบเจอ

ซึ่งทุกคนต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า รู้สึกดีใจและขอบคุณที่มาสร้างสรรค์งานศิลปะครั้งนี้ เห็นแล้วรู้สึกได้ถึงความสนุก ซุกซนทางความคิด และเชื่อมโยงกับเรื่องราวของร้านไอติมยิว ที่หลังจากนี้คนท้องถิ่นคงพูดถึงร้านไอติมยิวกันบ่อยขึ้น และใครๆ ก็คงต่างปรารถนาและตั้งใจที่จะแวะเวียนมาร้านไอติมยิว พร้อมถ่ายรูปคู่กับงานศิลปะชุดนี้





งาน Graffiti ชุดนี้ ชื่อว่า “น้องฟรองโก้แอนด์เดอะแก๊งส์ ที่ร้านไอติมยิว” โดยตัวการ์ตูนแต่ละตัวมีชื่อว่า ฟรองโก้ (น้องหมาน้อย) , Jayoto (เจ้าแมวซ่าส์) เบบี้ คอร์น (คำว่าคอร์น มาจาก ยูนิคอร์น) และน้อง Soul (ลูกเจี๊ยบน้อย) 












ท้ายสุด AWAY Online อยากกล่าวขอบคุณทุกคนที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับโปรเจ็คนี้ กับงานศิลปะที่เชื่อมต่อคนรุ่นใหม่กับวัฒนธรรมดั้งเดิม ขอบคุณ คุณป๊อก-ไพโรจน์ พิเชฐเมธากุล Street Artist ผู้มีจิตใจที่เปี่ยมไปด้วยน้ำใจในการช่วยเหลือสังคม และน้องๆ ทีมศิลปินทุกคน ขอบคุณ คุณเอ๋-ปกรณ์ รุจิระวิไล เจ้าของ a.e.y. space ที่เราอยากยกตำแหน่ง Cultural Conductor หรือผู้ดูแล ที่คอยเป็นหูเป็นตา คอยช่วยกำกับดูแลความเป็นไปของวัฒนธรรมในย่านเมืองเก่า สงขลา อย่างตั้งใจ และขาดไม่ได้คือความเสียสละพื้นที่ผนังอาคารของร้านไอติมยิวจากผู้หลักผู้ใหญ่ที่ไฟเขียวเห็นดีเห็นงามกับความตั้งใจครั้งนี้ จนเกิดเป็นอีกหนึ่งชิ้นงานศิลปะที่มากคุณค่า เป็นมากกว่าแค่ภาพวาดบนกำแพงเท่านั้น

ส่วนใครมีโอกาสไปเยือนย่านเมืองเก่า สงขลา อย่าลืมแวะเวียนไปพูดคุยกับคนท้องถิ่นที่ร้านไอติมยิว พร้อมร่วมชื่นชมผลงาน Graffiti ชุดนี้กันด้วยนะครับ ซึ่งร้านไอติมยิวตั้งอยู่เลขที่ 162 บนถนนนางงาม ตรงข้ามกับที่พักชื่อ “บ้านในนคร” หาง่ายและไม่หลงอย่างแน่นอน เชื่อเราได้


RELATED